ถ้าอยากถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ แต่เปิดรูรับแสงให้กว้างแล้วภาพสว่างเกินไป หรือถ่ายคลิปวิดีโอแล้วภาพดูแข็งไปหมดไม่เป็นธรรมชาติ ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการที่แสงบริเวณนั้นมีความสว่างสูง จนกล้องไม่สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์มาช่วย ให้เราได้ภาพในลักษณะที่เราต้องการ ฟิลเตอร์ ND จะสามารถมาช่วยเราแก้ปัญหาในเรื่องนี้ครับ
ฟิลเตอร์ ND มาช่วยเราถ่ายภาพหรือถ่ายวิดีโอได้ยังไง
โดยปกติแล้ว กล้องจะต้องใช้แสงในการถ่ายภาพ แต่การที่มีแสงในปริมาณมากเกินไป ก็จะส่งผลเสียให้กับงานของเราได้เช่นกัน ฉะนั้นเราจึงต้องมีอุปกรณ์มาเพื่อช่วยลดแสง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ฟิลเตอร์ ND เป็นฟิลเตอร์สำหรับใส่ที่หน้าเลนส์ของกล้องถ่ายภาพ เพื่อทำหน้าที่ลดแสงลง และเมื่อแสงที่เข้ามาในกล้องลดลง ทำให้เราสามารถเปิดรูรับแสงได้กว้างขึ้น หรือทำให้ Speed Shutter ต่ำลง จนเหมาะสมกับรูปแบบการทำงานของเรา
งานแบบไหนที่เราต้องการให้รูรับแสงกว้างขึ้น?
ในช่วงเวลากลางวันที่แสงแดดจ้า หากว่าเราต้องการถ่ายภาพบุคคลที่ต้องการภาพที่ตัวแบบชัด แต่ฉากหลังเบลอออกไป เราจำเป็นจะต้องเปิดรูรับแสง (F-Stop) ให้กว้างขึ้น ส่งผลให้ภาพสว่างมากขึ้นไปด้วย โดยปกติแล้วเมื่อภาพสว่างเกินไป เราจำเป็นจะต้องปรับ Shutter Speed กล้องให้สูงขึ้นตาม เพื่อให้ความสว่างของภาพอยู่ในระดับที่พอดี แต่ในกรณีที่ภาพยังคงสว่างมากเกินกว่าที่กล้องจะชดเชยด้วย Shutter Speed ได้ เราจึงต้องใช้ ฟิลเตอร์ ND มาลดแสงให้เรา เพื่อให้ได้ความสว่างตามที่เราต้องการ
งานแบบไหนที่เราต้องการใช้ Shutter Speed ต่ำลง?
การถ่ายวิดีโอให้การเคลื่อนไหวของคน หรือสิ่งต่างๆ ให้ดูเป็นธรรมชาติ เราจำเป็นจะต้องใช้ Shutter Speed ที่เป็นมาตราฐานในการถ่ายทำ เช่น 1/50 สำหรับวิดีโอรูปแบบ 25fps* หรือ 1/60 สำหรับวิดีโอแบบ 30fps* เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Motion Blur ทำให้การเคลื่อนไหวที่เกิดจากการถ่าย มองแล้วใกล้เคียงกับเวลาที่เราเห็นด้วยตาของเราเอง เพื่อให้คนที่ดูคลิปวิดีโอของเรา รู้สึกถึงความสมจริง และเช่นเดียวกัน หากเราอยากถ่ายภาพนิ่งให้เกิด Motion Blur ก็สามารถทำได้โดยใช้หลักการเดียวกัน ทำให้ภาพนิ่งของเรา ดูมีความเคลื่อนไหวอยู่ในภาพได้ด้วย
*fps = frame per second / จำนวนเฟรมภาพที่นำมาประกอบเป็นภาพเคลื่อนไหวใน 1 วินาที
หากสงสัยว่า Motion Blur ตามธรรมชาติเป็นยังไง ลองโบกมือตรงหน้าแล้วดูภาพที่เกิดขึ้น เพราะภาพมือที่เราเห็น จะไม่ได้มีความคมชัดเมื่อมีการเคลื่อนไหว จะยังคงมีภาพติดตาหลังจากที่มือผ่านจุดเดิมไปแล้วอยู่ในเสี้ยววินาทีหนึ่งนั่นเอง ซึ่งในงานวิดีโอที่ต้องการความสมจริง ก็จะให้ความสำคัญในเรื่องของ Motion Blur นี้ด้วย
ถ้าต้องการเห็นภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องของ Motion Blur และการตั้งค่าให้เกิด Effect นี้มากขึ้น ลองดูคลิปของคุณ Napat เพิ่มเติมด้านล่างนี้ครับ
ในขณะเดียวกัน หากว่าเราไม่มีฟิลเตอร์ ND และต้องถ่ายวิดีโอในที่ที่มีความสว่างสูงเกินไป เราต้องทำการเพิ่ม Shutter Speed ให้สูงขึ้น ความเคลื่อนไหวในวิดีโอที่ได้ก็จะมีความชัดสูง ไม่มีการเกิด Motion Blur ทำให้การเคลื่อนไหวเหล่านั้นดูแข็งและไม่เป็นธรรมชาติ
งานที่ต้องการทั้งรูรับแสงกว้าง และ Shutter Speed ที่เหมาะสม
ในการถ่ายวิดีโอระดับมืออาชีพ เราจะเห็นว่าแม้ในกลางแดดจ้า นักแสดงที่อยู่ในภาพก็สามารถเคลื่อนไหวโดยมี Motion Blur ที่ดูเป็นธรรมชาติ นอกจากนั้นฉากหลังก็ยังเบลอออกไป ทำให้ตัวนักแสดงดูโดดเด่นขึ้นมา สิ่งนี้ก็เป็นผลที่อาจจะเกิดจากการนำ ND มาใช้ได้เช่นกัน
เมื่อใช้ ND ที่มีความเข้มที่สูงขึ้น ก็จะเกิดการลดปริมาณแสงที่เข้ามาในกล้องลงไปมากขึ้น เราจึงสามารถเพิ่มขนาดของรูรับแสง และปรับลด Shutter Speed ไปได้พร้อมๆ กัน ทำให้งานวิดีโอที่มีการควบคุมแสงด้วยความละเอียดระดับนี้ดูมีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้นไปด้วย แต่ในกรณีที่ใช้ ND ที่มีความเข้มมากเกินไป ก็อาจจะทำให้ต้องเพิ่ม ISO และอาจส่งผลให้เกิด Noise ในภาพหรือคลิปของเราได้ด้วย
ต้องใช้ฟิลเตอร์ ND ความเข้มเท่าไหน ถึงจะเพียงพอต่อการใช้งาน?
เวลาที่เราจะเลือกฟิลเตอร์ ND มาใช้งาน ต้องเลือกจากสภาพแวดล้อมที่ต้องการนำไปใช้ เพราะตัว ND มีความเข้มของการลดแสงให้เลือกหลายรูปแบบทั้งแบบที่กำหนดความเข้มมาแบบตายตัว และแบบที่สามารถปรับเปลี่ยนความเข้มได้ (Variable ND หรือ VND)
เราสามารถดูความเข้มที่เหมาะสมได้จากภาพตารางด้านล่างนี้
ในช่องสีเทา แถวแรกสุด จะเป็นแถวที่บอกว่า หากเราไม่ใส่ฟิลเตอร์ ND เราจำเป็นจะต้องใช้ Shutter Speed ที่เท่าไหร่ และในช่องถัดๆ มาจะเป็นตัวบอกว่า เมื่อเราใส่ฟิลเตอร์ เข้าไปแล้ว Shutter Speed จะอยู่ที่เท่าไหร่ เช่น หากเราต้องการถ่ายคลิปวิดีโอที่ 30fps เราจำเป็นจะต้องถ่ายที่ Shutter Speed คือ 1/60 (แถวที่ 7 ช่องที่ 5 ในตาราง) ในกรณีที่เราตั้งค่า ISO และรูรับแสงไว้แล้ว และทำการวัดแสงในตอนที่ยังไม่ใส่ฟิลเตอร์ ได้ค่า Shutter Speed ที่ 1/4000 เราจำเป็นจะต้องใส่ ND 1.8 เพื่อลดแสงลง 6 Stop ให้ได้ค่า Speed Shutter ตามที่เราต้องการ
หรือเราอาจจะเลือกฟิลเตอร์ VND เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งานก็ได้ เพราะ VND จะสามารถหมุนปรับความเข้าในการลดแสงได้ในตัวเอง ทำให้เราไม่ต้องสลับฟิลเตอร์ไปมา ส่วนตัวอย่างการใช้งาน ก็สามารถดูจากในคลิปของคุณ Napat ที่โพสต์ไว้ข้างต้นได้ด้วยเช่นกันครับ
สรุปผลจากฟิลเตอร์ ND
มาถึงตรงนี้ น่าจะพอทำให้เข้าใจผลจากการใช้งานฟิลเตอร์ ND กันบ้างแล้วว่าจะสามารถนำมาใช้ เพื่อเพิ่มคุณภาพของงานเราได้ยังไงบ้าง โดยหลักแล้ว เนื่องจาก ND เราจะใช้งานเพื่อลดแสง ดังนั้นผลจากการลดแสง จะช่วยให้เราตั้งค่าเหล่านี้ในกล้องได้
- ลด Shutter Speed ให้ต่ำลง จนเกิด Motion Blur ทั้งในภาพนิ่งและวิดีโอ
- เพิ่มรูรับแสงให้กว้างขึ้น ทำให้ฉากหลังเบลอออกไป ส่งผลให้ตัวแบบที่ถ่ายดูโดดเด่นยิ่งขึ้น
ซึ่งผลทั้งสองสิ่งนี้ ทำให้เราควบคุมสภาพแสงได้มากขึ้น ส่งผลให้งานของเราออกมาในรูปแบบที่เราต้องการนั่นเอง
สำหรับใครที่สงสัยว่าประเภทของฟิลเตอร์นั้นมีอะไรบ้างในฉบับย่อๆ สามารถคลิกเข้าไปดูได้ที่บทความ รู้จักกับเลนส์ฟิลเตอร์แต่ละประเภท กันได้เลย และหากว่าต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามเข้ามาได้ที่เพจ The Digital STM ครับ